สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๓๒  ทรัพย์สินใดที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิด และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5747/2561 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง จึงไม่ชอบเพราะศาลมิได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง มิใช่ทรัพย์ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่ฟ้อง จึงไม่อาจริบได้ ให้คืนแก่เจ้าของตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 32, 33

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6733/2560 แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องก็ชอบที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางที่โจทก์มีคำขอให้ริบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จึงให้ริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง โจทก์ขอให้ศาลสั่งริบโดยอ้างว่าจำเลยใช้ในการติดต่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อคำเบิกความของพยานโจทก์มีข้อพิรุธน่าสงสัยว่าจะมีการวางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยหรือไม่ ทั้งโจทก์มิได้นำสืบถึงรายการการใช้โทรศัพท์ระหว่างโทรศัพท์ของสายลับกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สิน ที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6521/2560 แม้คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับรถยนต์ของกลางว่า เป็นยานพาหนะที่จำเลยกับพวกใช้ขับมาร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ โดยไม่ปรากฏว่ามีการใช้รถยนต์ของกลางซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนของกลางหรือมีการใช้รถยนต์ของกลางในการร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางอย่างไร จำเลยเพียงแต่ขับรถยนต์ของกลางมายังสถานที่เกิดเหตุเพื่อมารับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยนำรถยนต์ของกลางมาใช้เป็นยานพาหนะสำหรับการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาส่งให้แก่สายลับดังกล่าว หรือจำเลยมีเจตนาที่จะใช้รถยนต์ของกลางเป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดคดีนี้อย่างไร รถยนต์ของกลางจึงเป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยใช้ในการเดินทางมายังสถานที่เกิดเหตุมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิด จึงไม่อาจริบรถยนต์ของกลางตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งรถยนต์ของกลางก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1415/2560 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 388/2558 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีช้างซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าช้างเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และศาลชั้นต้นริบช้างของกลางตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 58 และ ป.อ. มาตรา 32 ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนช้างของกลาง จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนช้างของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าศาลสั่งริบช้างของกลางได้หรือไม่นั้นยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นโดยอ้างว่าช้างของกลางเป็นช้างบ้านที่มีตั๋วรูปพรรณช้าง (ส.พ. 5) เพื่อให้ฟังว่ามิใช่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองขึ้นมาในคำร้องขอคืนช้างของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14477/2558 คำว่า "ปรากฏ" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า สำแดงออกมาให้เห็น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองว่า เป็นอาวุธปืนที่ไม่ปรากฏเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ จึงมีความหมายว่า เป็นอาวุธปืนที่ไม่สำแดงออกมาให้เห็นถึงเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ กรณีจึงยังไม่เป็นการแน่นอนว่าอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองนั้น เป็นอาวุธปืนที่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้หรือไม่ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นคุณแก่จำเลยว่า อาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และความผิดดังกล่าวอยู่ที่การไม่ได้รับใบอนุญาต หาทำให้อาวุธปืนของกลางที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นอาวุธปืนผิดกฎหมายไปไม่ อาวุธปืนของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดอันจะพึงต้องริบ และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 ไม่อาจริบตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ ชอบที่จะต้องส่งคืนแก่เจ้าของ

 

บทความที่น่าสนใจ

- วิธีการประหารนักโทษต้องโทษประหาร

- คำว่า ประมาท ตามกฎหมายมีความหมายอย่างไร

-ทำบันทึกข้อตกลงหย่ากันแล้วอีกฝ่ายไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่า

- ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นสินสอด

- ไม่ได้จดทะเบียนสมรสบิดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือไม่

- สัญญาค้ำประกันที่คู่สมรสไม่ได้ยินยอมด้วย ผลทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร

-ตกลงยกทรัพย์ให้เพื่อยุติกรณีชู้สาวเป็นสินสมรสหรือไม่